สำนักข่าวรอยเตอร์ส Reuters รายงานข่าวถึงเป้าหมายของจังหวัดภูเก็ต ในการเป็นจุดหมายเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน Sustainable Tourism Destination ภายในปี 2569 แต่ขณะเดียวกัน ภูเก็ตกำลังเผชิญกับวิกฤตการจัดการปัญหาขยะ โดยแต่ละวัน ขยะปริมาณ 1,100 ตัน ที่ถูกเก็บมาจากพื้นที่ทั่วเกาะภูเก็ต จะถูกส่งไปยังบ่อขยะเพียงแห่งเดียวของเกาะที่ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านสะพานหิน และในจำนวนนี้ ขยะปริมาณ 700 ตัน จะถูกนำไปเผา ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปฝังกลบ
ขณะที่ ชุมชนใกล้บ่อขยะต้องเผชิญกับกลิ่นเหม็นรุนแรง ชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ตรงข้ามกับบ่อขยะ เล่าว่า เมื่อมองจากบ้านพื้นที่ที่เคยเป็นเนินเขาเล็ก ๆ ตอนนี้กลับกลายเป็นภูเขาขยะในเวลาเพียง 1-2 เดือน และลูกของเธอมีอาการภูมิแพ้ และเด็ก ๆ ก็ไม่สามารถออกไปเล่นนอกบ้านได้ เธอต้องสวมหน้ากาก เปิดแอร์ และเปิดเครื่องกรองอากาศตลอดเวลา ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เคยจ่าย 3,000 บาท พุ่งขึ้นเป็น 6,000 บาทต่อเดือน
นายศุภโชค ละอองเพชร รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กลัวว่า หลุมฝังกลบขยะอาจเต็มภายใน 1 ปี จากการเติบโตของภูเก็ตรวดเร็ว ขณะที่ เตาเผาขยะแห่งที่ 2 กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง กำหนดแล้วเสร็จในปี 2569 หรือต้นปี 2570 ซึ่งเพิ่มกำลังการเผาขยะได้วันละ 500 ตัน
ก่อนหน้านี้สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับโลก GSTC ลงพื้นที่ประเมินภูเก็ตเป็นเวลา 5 วัน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาพบว่ามีที่พักอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการจัดการในทันที เนื่องจากจะนำไปสู่การจัดการขยะที่ไม่ได้รับการควบคุม หรือแม้แต่ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเอง